การแปลงข้อมูลให้เป็นภาพที่เข้าใจง่ายเป็นแกนสำคัญของผลงานผม ผมเป็นอาจารย์สอนด้านสุขภาพของโลก ผมรู้ดีว่าข้อมูลดิบๆไม่เพียงพอหรอก ผมต้องนำเสนอออกมาในแบบที่สนุกและเข้าใจได้ง่าย และตอนนี้ผมกำลังจะลองในสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ผมจะทำให้ข้อมูลพวกนี้เคลื่อนไหวในพื้นที่ว่างๆนี้ โดยมีทีมงานช่วยเหลือทางด้านเทคนิคอีกเล็กน้อย เอาล่ะ ทีนี้ผมจะจัดให้แกนแนวตั้งเป็นเส้นวัดสุขภาพ อายุคาดเฉลี่ยจาก 25 - 75 ปี ส่วนแนวนอนคือความมั่งคัง รายได้ต่อหัว: จาก 400, 4,000 และ 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ฉะนั้นด้านล่างนี้คือกลุ่มที่จนและสุขภาพแย่ ส่วนด้านบนคือกลุ่มที่รวยและสุขภาพดี และทีนี้ผมจะแสดงให้ดูภาพรวมของโลกเราเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ.1810 ประเทศต่างๆจำแนกเป็นทวีปตามสีดังนี้ ยุโรปสีน้ำตาล เอเชียสีแดง ตะวันออกกลางสีเขียว แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าสีน้ำเงิน และอเมริกาสีเหลือง ในที่นี้ ขนาดของวงกลมบอกถึงขนาดของประชากรของประเทศนั้นๆ ในปี ค.ศ.1810 จะเห็นว่าประเทศทั้งหมดจะกระจุกตัวอยู่บริเวณนี้ หมายความว่าประชากรทั้งหมดต่างสุขภาพย่ำแย่และจัดว่าจนในสมัยนั้น อายุคาดเฉลี่ยก็ล้วนต่ำกว่า 40 ปี ในจำนวนนั้น มีแต่อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ที่สูงกว่าชาติอื่นๆ แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก คราวนี้ ผมจะเดินเวลาไปข้างหน้า ยุคปฏิวิติอุตสาหกรรมทำให้ประเทศต่างๆในทวีปยุโรปและอื่นๆ เคลื่อนตัวออกจากกลุ่มนี้ ส่วนประเทศที่ถูกล่าอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา ยังคงกระจุกตัวไม่ไปไหน ในขณะเดียวกัน สุขภาพของประชากรฝั่งตะวันตกก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ เราเลื่อนเวลาให้ช้าลงหน่อยเพื่อให้เห็น ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหายนะจากการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปน ต่อไปผมจะเลื่อนเวลาไปยังช่วงปี ค.ศ. 1920 ถึง 1930 ช่วงนั้นเอง ที่แม้จะมีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ประเทศทางตะวันตกไม่ว่าจะเป็น ด้านความมั่งคั่งและพลานามัยกลับก้าวหน้าขึ้น ญี่ปุ่นและบางประเทศพยายามไต่ขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ด้านล่างเหมือนเดิม ต่อมา หลังจากโศกนาฏกรรมของสงครามโลกครั้งที่สอง ผมขอหยุดอยู่ที่ปี ค.ศ. 1948 สักครู่ ปีนั้นเป็นปีมีแต่เหตุการณ์ดีๆ: สงครามยุติลง สวีเดนคว้าแชมป์เหรียญทองโอลิมปืกได้มากที่สุด และก็ยังเป็นปีที่ผมเกิดด้วย ในขณะที่ความห่างของแต่ละประเทศในกราฟนี้ กว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อเมริกานำหน้าสุด ญี่ปุ่นตามขึ้นมา บราซิลห่างออกไปไม่น้อยดีเดียว อิหร่านมั่งคั่งขึ้นเล็กน้อยจากการค้าน้ำมัน แต่อายุประชากรยังคงสั้นไม่ต่างจากเดิมนัก ยักษ์ใหญ่จากเอเชีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ระดับความมั่งมีและสุขภาพยังคงต่ำอยู่ แต่จับตาดูดีๆกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมเดินหน้าต่อไป ทันทีที่ประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมได้เสรีกลับคืน ดัชนีสุขภาพของประเทศเหล่านั้นก็ดีขึ้น และดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1970 นี่เอง ที่กลุ่มประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกา เริ่มตามประเทศฝั่งตะวันตกได้ทัน กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับบางประเทศในแอฟริกา บางประเทศหยุดอยู่กับที่เพราะสงครามการเมือง บางส่วนเป็นเพราะโรคเอดส์ เราจะเห็นว่า โลกของเราวันนี้ ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลสถิติล่าสุด ประเทศส่วนใหญ่อยู่บริเวณกลาง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างประเทศ ที่อยู่ระดับบนสุดและล่างสุดก็ยังมากอยู่ รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศตนเอง วงกลมเหล่านี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ย ผมจะแยกให้ดูเป็นตัวอย่าง ประเทศจีน ถ้าจำแนกตามเมืองแล้ว มหานครเซี่ยงไฮ้ ระดับความมั่งคั่งและสุขภาพเทียบเท่ากับอิตาลี ส่วนมณฑลกุ้ยโจว ที่จัดว่าค่อนข้างจน เทียบเท่ากับปากีสถาน และชนบทบางแห่งในจีน ดัชนีเหล่านั้นไม่ได้ต่างจากประเทศกานาในแอฟริกาเลย อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเห็นความไม่เท่าเทียมกันในโลกปัจจุบัน แต่สองร้อยปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าโลกเรามีพัฒนาการไม่น้อยเลย ช่องว่างจากประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ระหว่างประเทศฝั่งตะวันตกและอื่นๆกำลังจะถูกปิดลง ทุกประเทศล้วนกำลังเดินหน้าไปยังจุดหมายเดียวกัน ผมเห็นแนวโน้มอนาคตที่ทุกๆประเทศกำลังมุ่งหน้าไป การแพทย์ การค้า เทคโนโลยีสีเขียว และความสงบ จะเป็นตัวช่วยให้พวกเราไปถึงจุดนั้นได้ จุดที่ทุกคนมั่งมีทั้งทางการเงินและสุขอนามัย เอาล่ะ มาถึงตอนนี้รู้มั้ยว่าสิ่งที่พวกคุณได้ยินได้ฟังมาเมื่อไม่กี่นาทีนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นของ 200 กว่าประเทศ เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมาหรืออาจจะมากกว่านั้น จำนวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกว่า 120,000 ตัวเลข ค่อนข้างเรียบง่าย ใช่มั้ยครับ?