วันนี้ผมจะพูดเรื่องการออมมากขึ้นครับ แต่ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ ผมจะพูดถึง "ออมเพิ่มในวันพรุ่ง" มันเป็นโครงการที่ ริชาร์ด เธเลอร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโกกับผม คิดค้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ในแง่หนึ่งโครงการนี้ เป็นตัวอย่างของการเงินเชิงพฤติกรรม สิ่งที่สำคัญ -- เราจะนำการเงินพฤติกรรม ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ทีนี้คุณอาจสงสัยว่า การเงินพฤติกรรมคืออะไร? เราลองมาคิดกันก่อนนะครับว่า เราจัดการเงินกันอย่างไร ลองเริ่มจากสินเชื่อบ้าน หัวข้อร่วมสมัยในกระแส อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา คนเยอะมากเลยซื้อ บ้านที่ใหญ่ที่สุดที่พวกเขาสามารถซื้อได้ ที่จริงก็ใหญ่กว่านั้นนิดหน่อยด้วยซ้ำ เสร็จแล้วก็ถูกยึดบ้าน เสร็จแล้วก็ประนามธนาคารว่า เป็นพวกสารเลวที่ปล่อยให้กู้ตั้งแต่แรก เราลองนึกสิว่า เราจัดการความเสี่ยงอย่างไร -- ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในตลาดหุ้น สองปีก่อน สามปีก่อน หรือสี่ปีก่อน ตลาดหุ้นไปได้สวย แน่นอน เราเป็นพวกชอบความเสี่ยง แล้วตลาดก็ชักกระตุก แล้วเราบอกว่า "โอ้โห ตอนขาดทุนนี่มันรูู้สึก แตกต่างมากเลย กับสิ่งที่เราคิดว่าจะเกิด ตอนที่ตลาดกำลังขึ้น" ดังนั้น เราอาจกำลังรับมือกับความเสี่ยง ได้ไม่ค่อยดีนัก พวกคุณกี่คนที่นี่มีไอโฟนครับ? มีไหมครับ? เยี่ยมเลย ผมพนันได้ว่าพวกคุณหลายคน ทำประกันไอโฟนของคุณ -- คุณซื้อประกันโดยนัย ถ้าคุณจ่ายค่าขยายอายุประกันสินค้า ถ้าคุณทำไอโฟนหายล่ะ? หรือถ้าทำแบบนี้? มีใครในที่นี้มีลูกไหมครับ? มีไหมครับ? ยกมือค้างไว้ก่อนนะ มีใครซื้อประกันชีวิตบ้างครับ ผมเห็นหลายคนลดมือลงแล้ว ผมจะพยากรณ์ว่า ถ้าพวกคุณเป็นตัวแทนของประชากรเฉลี่ย คนที่ซื้อประกันไอโฟนจะมีมากกว่า คนที่ซื้อประกันชีวิตให้ตัวเอง ต่อให้มีลูกแล้วก็ตาม เราตัดสินใจเรื่องประกันไม่เก่งเลย ครัวเรือนอเมริกันโดยเฉลี่ย ใช้เงิน 1,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซื้อล็อตเตอรี่ ผมรู้ว่าตัวเลขนี้ฟังดูบ้ามาก มีใครในห้องนี้ใช้เงินพันเหรียญทุกปี ซื้อล็อตเตอรี่ครับ? ไม่มีเลย นั่นแปลว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ ต้องใช้เงินมากกว่าหนึ่งพันเหรียญแน่ๆ ค่าเฉลี่ยถึงได้ออกมาพันเหรียญ ผู้มีรายได้น้อย ใช้เงินซื้อล็อตเตอรี่มากกว่าพันเหรียญ แล้วมันแปลว่าอะไรครับ? เราจัดการเงินได้ไม่เก่งเลย การเงินพฤติกรรม ที่จริงก็คือส่วนผสม ระหว่างจิตวิทยากับเศรษฐศาสตร์ เพื่อพยายามเข้าใจ ความผิดพลาดเรื่องเงินที่เราทำๆ กัน เอาล่ะ ผมสามารถยืนอยู่ตรงนี้ ได้อีก 12 นาทีกับ 53 วินาที เพื่อเล่าเรื่องตลกของวิธีต่างๆ ที่ เราใช้จัดการเงิน แล้วพอเล่าจบพวกคุณจะถามว่า "เราจะช่วยคนได้ยังไง?" นั่นคือประเด็นที่ผมอยากเน้นในวันนี้ เราจะเข้าใจ เกี่ยวกับความผิดพลาดเรื่องเงินที่ทำๆ กัน แล้วเปลี่ยนอุปสรรคเชิงพฤติกรรมเหล่านั้น ไปเป็นวิธีแก้ไขเชิงพฤติกรรมได้อย่างไร? วันนี้ผมจะเล่าให้ฟัง เรื่องโครงการออมเพิ่มในวันพรุ่ง ผมอยากพูดถึงประเด็น การออมเงิน บนจอคือภาพ กลุ่มตัวอย่างประชากรเฉลี่ย ของคนอเมริกัน 100 คน เราจะมาดูพฤติกรรมการออมของพวกเขา สิ่งแรกที่เราสังเกตคือ คนครึ่งหนึ่ง ไม่มีแม้แต่ แผนเงินสำรองเลี้ยงชีพ ยากมากที่พวกเขาจะออม พวกเขาไม่สามารถมีเงินเหลือจากค่าจ้าง มาใส่บัญชีสำรองเลี้ยงชีพได้ ก่อนที่พวกเขามองเห็น ก่อนจะแตะเงินก้อนนี้ได้ แล้วคนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือล่ะ? บางคนเลือกไม่ออม คือแค่ขี้เกียจ ไม่เคยเข้าเว็บซับซ้อน คลิก 17 ครั้งเพื่อเปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เสร็จแล้วก็จะต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนยังไง จากตัวเลือก 52 ตัว ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้จัก "กองทุนตลาดเงิน" มาก่อน ข้อมูลประดังจนเลือกไม่ถูก ก็เลยไม่สมัคร มีกี่คนกันที่มีบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ? หนึ่งในสามของชาวอเมริกันทั้งหมด สองในสามตอนนี้ไม่ได้ออม แล้วพวกเขาออมเงินกันพอหรือเปล่า? ลองไม่นับคนที่ บอกว่าพวกเขาออมน้อยเกินไป มีเพียงหนึ่งในสิบคน ที่ออมพอ เก้าในสิบคน ออมผ่านบัญชีสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้ ตัดสินใจไม่ออม หรือไม่ตัดสินใจ หรือไม่ก็ออมในบัญชี แต่น้อยเกินไป ผมคิดว่าเรามีปัญหา กับคนที่ออมไว้มาก ลองมาดูเรื่องนี้กัน เรามีคนหนึ่งคน -- อืม ที่จริงเราต้องหั่นครึ่งเขา เพราะมันน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ชาวอเมริกันประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าพวกเขาออมเงินไว้อย่างเยอะ เราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ดี? นี่คือประเด็นที่ผมอยากพูดถึง เราต้องเข้าใจว่า ทำไมคนถึงไม่ออม แล้วเราถึงจะมีหวังว่าสามารถ เปลี่ยนอุปสรรคเชิงพฤติกรรมนี้ ให้เป็นวิธีแก้เชิงพฤติกรรมได้ แล้วดูว่ามันมีพลังแค่ไหน ฉะนั้นผมขอเปลี่ยนเรื่องแป้บนึง เราจะมาระบุตัวปัญหา อุปสรรค, อุปสรรคเชิงพฤติกรรม ที่ขัดขวางคนไม่ให้ออม ผมจะเปลี่ยนเรื่อง ไปพูดเรื่องกล้วยกับช็อกโกแลตครับ สมมุติว่าสัปดาห์หน้าเราจะมีงานเท็ดเจ๋งๆ อีกงาน แล้วตอนพัก ก็มีขนมฟรีให้กิน คุณเลือกได้ระหว่างกล้วยกับช็อกโกแลต พวกคุณกี่คนครับคิดว่าจะเลือกกินกล้วย ระหว่างพักเบรคงานเท็ดสมมุติ สัปดาห์หน้า? ใครจะกินกล้วยครับ? เยี่ยมเลย ผมพยากรณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าพวกคุณ 74 เปอร์เซ็นต์จะกินกล้วย อย่างน้อยงานวิจัยที่ยอดมากชิ้นหนึ่ง ก็พยากรณ์อย่างนี้ เสร็จแล้วก็นับวัน ตามไปดูว่าคนกินอะไรจริงๆ คนที่จินตนาการว่าตัวเอง จะกินกล้วย ลงเอยด้วยการกินช็อกโกแลต หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง การควบคุมตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาในอนาคต มันเป็นแค่ปัญหา ณ ตอนนี้ เมื่อมีช็อกโกแลตอยู่ต่อหน้าเรา เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับเวลาและการออมหรือครับ นี่คือเรื่องของการอดใจรอไม่ได้? ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกว่า อคติชอบปัจจุบัน (present bias) เราคิดถึงเรื่องการออม เรารู้ดีว่าเราควรจะออมเงิน เรารู้ว่าเราจะออมปีหน้า แต่วันนี้ไปใช้เงินดีกว่า เดี๋ยวก็คริสต์มาสแล้ว ไปซื้อของขวัญแจกทุกคนที่เรารู้จักดีกว่า ฉะนั้นเจ้าอคติชอบปัจจุบันนี้ ทำให้เราคิดถึงการออม แต่ลงท้ายกลับใช้เงินแทน ตอนนี้ผมอยากพูดถึง อุปสรรคเชิงพฤติกรรมอีกเรื่องที่กีดขวางการออม เรื่องนี้เกี่ยวกับแรงเฉื่อย แต่ตรงนี้ขอนอกเรื่องอีกนิดนะครับ มาดูเรื่องการบริจาคอวัยวะกัน งานวิจัยชิ้นเอก ที่เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ เราจะดูสองประเทศที่คล้ายกัน เยอรมนี กับ ออสเตรีย ในเยอรมนี ถ้าคุณอยากบริจาคอวัยวะ -- ถ้าพระเจ้าช่วยให้คุณไม่ประสบ อุบัติเหตุร้ายแรง -- เวลาคุณขอใบขับขี่หรือบัตรประชาชน คุณติ๊กช่องที่ระบุว่า "ข้าพเจ้าประสงค์จะบริจาคอวัยวะ" ไม่ค่อยมีใครชอบติ๊กหรอก มันต้องใช้ความพยายาม คุณต้องหยุดคิด มีสิบสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำ ออสเตรีย ประเทศเพื่อนบ้าน คล้ายกันนิดหน่อย ต่างกันเล็กน้อย ความแตกต่างคืออะไร? โอเค คุณยังมีทางเลือก คือเลือกได้ว่า อยากจะบริจาคอวัยวะหรือไม่อยาก แต่เวลาคุณได้ใบขับขี่ คุณจะติ๊ก ถ้าคุณไม่อยากบริจาคอวัยวะ ไม่มีใครติ๊กช่องนี้เลยครับ เหมือนว่าใช้ความพยายามมากเกิน มีคนติ๊กเปอร์เซ็นเดียว ที่เหลือไม่ทำอะไร การไม่ทำอะไรนี่ปกติมาก มีน้อยคนที่กาช่อง นัยของมันคืออะไร ต่อการช่วยชีวิตคน และมีอวัยวะให้เปลี่ยนเพียงพอ? ในเยอรมนี คน 12 เปอร์เซ็นต์ติ๊กช่อง มีผู้บริจาคอวัยวะ 12 เปอร์เซ็นต์ อวัยวะขาดแคลนขนาดหนัก โชคดีเถอะ ถ้าคุณต้องเปลี่ยนอวัยวะ ในออสเตรีย เหมือนกันคือไม่มีใครกาช่อง ดังนั้น คน 99 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นผู้บริจาคอวัยวะ แรงเฉื่อย การไม่ทำอะไร อะไรคือตัวเลือกอัตโนมัติ ถ้าคนไม่ทำอะไร ถ้าพวกเขาผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ติ๊กช่อง? มีพลังมากครับ เราจะพูดเรื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนรูู้สึกกลัวและข้อมูลท่วม เวลาตัดสินใจแผนสำรองเลี้ยงชีพ เราจะทำให้พวกเขาเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ หรือว่าให้เลือกเป็น? ในแผนสำรองเลี้ยงชีพจำนวนมาก ถ้าหากคนไม่ทำอะไร แปลว่าพวกเขาไม่ได้กำลังออมสำหรับวัยเกษียณ ถ้าพวกเขาไม่ติ๊กช่อง และการติ๊กนั้นต้องใช้ความพยายาม เราได้คุยกัน เรื่องอุปสรรคเชิงพฤติกรรมสองสามเรื่อง ผมจะพูดอีกเรื่องก่อนที่เราจะพลิกอุปสรรคไปเป็นวิธีแก้ปัญหา เรื่องนี้เกี่ยวกับลิงและแอปเปิลครับ จริงๆ นะ มันเป็นงานวิจัยจริง และก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาก ลิงกลุ่มหนึ่งได้กินแอปเปิลลูกนึง พวกมันมีความสุขมาก อีกกลุ่มได้แอปเปิลสองลูก ลูกหนึ่งถูกยึดไป ยังมีเหลืออีกลูกหนึ่ง พวกมันโกรธมาก ทำไมแกถึงเอาแอปเปิลเราไป? พฤติกรรมนี้เรียกว่า ความเกลียดการสูญเสีย เราเกลียดมากเวลาต้องเสียอะไร ต่อให้มันจะมีความเสี่ยงน้อยมากก็เถอะ คุณคงเกลียดมากเวลาไปที่ตู้เอทีเอ็ม กดเงินออกมา 100 เหรียญ แล้วสังเกตว่าธนบัตรใบละ 20 เหรียญหายไปหนึ่งใบ เจ็บปวดมากเลย แม้มันจะไม่มีความหมายอะไร 20 เหรียญนั่นซื้อข้าวเที่ยงกล่องเดียว ก็หมดแล้ว ความเกลียดการสูญเสียนี้ แสดงออกในเรื่องการออมเช่นกัน เพราะความรู้สึกของคนเรา ทั้งอารมณ์และสามัญสำนึก มองว่าการออมคือการสูญเสีย เพราะฉันต้องลดรายจ่าย โอเคครับ เราพูดกันเรื่อง อุปสรรคเชิงพฤติกรรมครบแล้ว สุดท้ายก็เกี่ยวกับการออมทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะนึกถึงการที่เราอดใจรอไม่ได้ ช็อกโกแลตเทียบกับกล้วย ยังไงก็เจ็บปวดถ้าต้องออมวันนี้ สนุกกว่ากันมาก ถ้าไปใช้เงินวันนี้ เราพูดถึงแรงเฉื่อยกับการบริจาคอวัยวะ และการติ๊กช่อง ถ้าคนต้องติ๊กหลายช่องมากๆ ก่อนจะเปิดบัญชีสำรองเลี้ยงชีพได้ พวกเขาก็จะผลัดวันประกันพรุ่ง และไม่สมัคร สุดท้าย เราพูดถึงความเกลียดการสูญเสีย ลิงกับแอปเปิล ถ้าในหัวคนมองว่า การออมเพื่อวัยเกษียณคือความสูญเสีย พวกเขาก็จะไม่ออมเพื่อวัยเกษียณ เรามีความท้าทายเหล่านี้ สิ่งที่ ริชาร์ด เธเลอร์ กับผม รู้สึกอัศจรรย์ใจเสมอมา -- คือการนำการเงินเชิงพฤติกรรม ทำมันให้เป็นการเงินเชิงพฤติกรรมโฉมใหม่ หรือ การเงินเชิงพฤติกรรม 2.0 หรือการเงินเชิงพฤติกรรมภาคปฏิบัติ -- พลิกอุปสรรคให้เป็นวิธีแก้ปัญหา เราคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่ายอย่างน่าเขิน เรียกว่า ออมเพิ่ม ไม่ใช่วันนี้ แต่ในวันพรุ่ง มันแก้ปัญหาความท้าทาย ที่เราพูดมาได้อย่างไร? ถ้าคุณคิดถึงปัญหา ของกล้วยกับช็อกโกแลต เราคิดว่าสัปดาห์หน้าเราจะกินกล้วย เราคิดว่าปีหน้าเราจะออมมากขึ้น ออมเพิ่มในวันพรุ่ง เชื้อเชิญให้พนักงาน ออมมากกว่าเดิม อาจจะปีหน้า -- ซักครั้งในอนาคต เมื่อเราจินตนาการว่าตัวเอง กำลังกินกล้วย ทำงานอาสามากขึ้นในชุมชน ออกกำลังกายมากขึ้น ทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับโลก ทีนี้ เราพูดไปแล้วด้วยเรื่องติ๊กช่อง และความยากลำบากของการลงมือทำ ออมเพิ่มในวันพรุ่ง ทำให้เรื่องนี้ง่ายมาก มันจัดการให้โดยอัตโนมัติ เมื่อคุณบอกผมว่าคุณอยากออมมากขึ้นในอนาคต สมมุติว่าทุกเดือนมกราคม คุณก็จะออมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เราจะหักเงินเดือนคุณทันที เอาเงินใส่บัญชีสำรองเลี้ยงชีพ ก่อนที่คุณจะเห็น ก่อนที่คุณจะได้แตะต้องมัน ก่อนที่คุณจะไปถึงประเด็น อดใจรอไม่ไหว แต่เราจะทำยังไงเรื่องลิง กับความเกลียดความสูญเสีย? ปีหน้าพอถึงเดือนมกรา คนอาจรู้สึกว่าถ้าออมมากขึ้น ก็จะต้องใช้เงินน้อยลง รู้สึกเดือดร้อน ครับ บางทีมันอาจไม่ใช่แค่มกราคม บางทีเราอาจให้คนออมมากขึ้น ทุกครั้งที่ได้เงินมากขึ้น วิธีนี้ เวลาที่พวกเขามีเงินมากขึ้น ตอนได้ขึ้นเงินเดือน พวกเขาจะได้ไม่ต้องลดค่าใช้จ่าย พวกเขาดึงเงินส่วนหนึ่ง จากเงินเดือนส่วนที่เพิ่มขึ้น เอาไปใช้มากขึ้น -- แล้วกันเงินอีกส่วนของส่วนเพิ่ม ไปใส่บัญชีสำรองเลี้ยงชีพ นี่คือโครงการของเราครับ เรียบง่ายอย่างน่าเขิน แต่เราจะได้เห็นว่า มีพลังมหาศาล ครั้งแรกเราลงมือทำ ริชาร์ด เธเลอร์ กับผม ในปี 1998 ให้กับบริษัทขนาดกลาง ในภาคตะวันตกตอนกลาง คนงานระดับล่าง ดิ้นรนหมุนเดือนชนเดือน พวกเขาย้ำกับเรานักหนาว่า ออมเพิ่มทันทีไม่ได้เลย ให้ออมเพิ่มวันนี้ไม่มีทาง เราเชิญให้พวกเขา ออมมากกว่าเดิม 3 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้งที่ได้ขึ้นเงินเดือน และนี่คือผลลัพธ์ครับ เรากำลังดูช่วงเวลาสามปีครึ่ง ระหว่างนั้นขึ้นเงินเดือนสี่ครั้ง คนที่ดิ้นรนอยากออม กำลังออม 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ถัดมาสามปีครึ่ง พวกเขาออมได้มากกว่าเดิมสี่เท่า คือเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ มีรองเท้า จักรยาน และของอื่นๆ ในชาร์ตนี้ เพราะผมไม่อยากใส่แค่ตัวเลข ในสูญญากาศ ผมอยากคิดถึงข้อเท็จจริง ที่ว่าการออมมากขึ้นสี่เท่า คือความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ในแง่ของวิถีชีวิต ที่คนมีกำลังซื้อพอให้ใช้ เรื่องจริงครับ ไม่ใช่แค่ตัวเลขบนกระดาษ การออมสามเปอร์เซ็นต์ อาจทำให้คนซื้อรองเท้าผ้าใบ ดีๆ คู่หนึ่งมาใช้ เพราะไม่มีกำลังซื้อของอย่างอื่น แต่พอออมได้ 14 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาอาจมีรองเท้าทำงาน ใส่เดินไปขับรถ นี่คือความแตกต่างที่แท้จริง ตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มีโครงการทำนองนี้แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายคุ้มครองบำนาญ ไม่ต้องพูดเลยว่า เธเลอร์กับผม ได้รับพรศักสิทธิ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง ผมอยากจะจบ ด้วยสองข้อความสำคัญครับ ข้อแรกคือ การเงินเชิงพฤติกรรม มีพลังมหาศาล นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น ข้อที่สองคือ ยังมีงานอีกมากที่เราต้องทำ นี่เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ถ้าคุณคิดถึงคนและสินเชื่อบ้าน ซื้อบ้านมาแล้วก็ผ่อนไม่ได้ เราต้องคิดถึงเรื่องนี้ ถ้าคุณกำลังคิดเรื่องที่คนรับความเสี่ยงมากไป แต่ไม่เข้าใจว่ากำลังรับความเสี่ยงขนาดไหน หรือคนอื่นที่เสี่ยงน้อยเกินไป เราต้องคิดถึงเรื่องนี้ ถ้าคุณคิดเรื่องคนที่ใช้เงินเป็นพันๆ เหรียญในแต่ละปี ซื้อหวย เราต้องคิดเรื่องนั้นด้วย ที่จริงค่าเฉลี่ย ของสถิติในสิงคโปร์ ครัวเรือนโดยเฉลี่ย ใช้เงินซื้อหวย 4,000 เหรียญต่อปี เรามีงานต้องทำอีกเยอะครับ ปัญหาต้องแก้อีกมาก ในเรื่องวัยเกษียณด้วย ประเด็นว่าคนเราใช้เงินทำอะไร หลังเกษียณ คำถามสุดท้ายคือ พวกคุณกี่คนรู้สึกพอใจว่า ระหว่างที่วางแผนวัยเกษียณ มีแผนการที่ดีจริงๆ ว่าจะเกษียณเมื่อไหร่ จะขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมเมื่อไหร่ จะมีวิถีชีวิตยังไง จะใช้เงินเท่าไหร่ต่อเดือน เพื่อให้เงินไม่หมด? มีกี่คนครับในนี้ ที่รู้สึกว่าวางแผนไว้ดีพอสำหรับอนาคต เมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตหลังเกษียณ หนึ่ง สอง สาม สี่ ไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้ฟังที่ฉลาดมาก หนทางของการเงินเชิงพฤติกรรมยังอีกไกลครับ มีโอกาสมากมาย ที่จะทำให้มันมีพลัง อีกครั้งและอีกครั้งและอีกครั้ง ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)